ไม่มีอะไรพิเศษเกี่ยวกับตัวเราหรือความรู้สึกของเรา

บทนำ

การฝึกฝนจิตใจหรือการฝึกฝนทัศนคติ โลจอง (lojong) ในภาษาทิเบตเป็นหัวข้อกว้าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับประสบการณ์ชีวิตของเราและวิธีที่เราจะสามารถเปลี่ยนทัศนคติเกี่ยวกับสิ่งที่เราประสบได้ เราทุกคนรู้ดีว่าชีวิตมีขึ้นและลงและก็มักจะไม่ง่ายนัก หลายสิ่งหลายอย่างเกิดขึ้นกับเราตลอดเวลา และสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นจากสาเหตุและเงื่อนไขต่าง ๆ ที่กว้างมาก 

ตัวอย่างง่าย ๆ ลองคิดในแง่ของเราทุกคนที่มารวมตัวกันที่นี่ในเย็นวันนี้ อะไรทำให้คุณมาที่นี่? มีทั้งด้านกายภาพ การจราจรและการขนส่ง ความจริงที่ว่าคุณอาศัยอยู่ในเมือง แล้วก็ความสนใจอะไรก็ตามที่คุณมี สิ่งที่เกิดขึ้นในครอบครัว การงาน และชีวิตของคุณโดยทั่วไป จากสาเหตุและเงื่อนไขจำนวนมหาศาล เราจึงมาอยู่ที่นี่ด้วยกัน ทุกคนมาจากภูมิหลังที่แตกต่างกันและชุดของสาเหตุและเงื่อนไขที่แตกต่างกัน

ตอนนี้ ขณะที่เรานั่งอยู่ตรงนี้ มีพวกคุณทุกคน มีผม และนักแปล แล้วก็มีกล้องวิดีโอบันทึกเราด้วย คุณมองมาที่ผมกับมองมาที่กล้องต่างกันอย่างไร? เช่นเดียวกับเรา กล้องก็อยู่ที่นี่ด้วยสาเหตุและเงื่อนไขต่าง ๆ เช่น มีคนผลิตมัน คนอื่นซื้อมันมา แต่อีกคนเป็นคนติดตั้ง ทั้งกล้องและเราต่างรับข้อมูลเข้ามา อย่างไรก็ตาม ความแตกต่างที่แท้จริงคือ เราพัฒนาความรู้สึกบนพื้นฐานของข้อมูลที่เราได้รับ กล่าวคือ ระดับของความสุขหรือความทุกข์ กล้องและคอมพิวเตอร์ไม่มีประสบการณ์ข้อมูลที่พวกมันรับเข้ามา

ความสุขคืออะไร?

หลักการพื้นฐานของชีวิตดูเหมือนว่า เราทุกคนต้องการมีความสุขและไม่ต้องการมีความทุกข์ สิ่งนี้เป็นแรงบันดาลใจให้เราคิดว่า “แท้จริงแล้ว ความสุขคืออะไร? จริง ๆ แล้ว เราต้องการอะไรกันแน่?”

ตามมุมมองทางพระพุทธศาสนา ความสุขหมายถึง ความรู้สึกซึ่งเมื่อได้ประสบแล้ว โดยธรรมชาติ เราย่อมไม่ต้องการที่จะแยกจากมัน เราชอบมันและเราพอใจที่จะให้มันมีอยู่ต่อไป

มันเป็นประสบการณ์ทางจิตใจที่สามารถไปกับการรับรู้ทางร่างกายได้ เช่น การเห็นบางสิ่งบางอย่างหรือบางคน หรือการรับรู้ทางจิตใจ เช่น การคิดถึงบางสิ่งบางอย่างหรือบางคน เราไม่ได้ชอบสิ่งที่เราเห็นหรือสิ่งที่เราคิดมากนัก แต่เราชอบที่จะรู้สึกขณะที่เราเห็นหรือคิดถึงมันอย่างไรมากกว่า แต่ความสุขไม่เหมือนกับความรู้สึกสัมผัสแห่งความสุขทางกาย แต่มันเป็นสภาพจิตใจ มันไม่เหมือนกับอารมณ์ที่รบกวนจิตใจจากการยึดติด ซึ่งเราขยายความเกินจริงถึงคุณสมบัติที่ดีของบางสิ่งบางอย่าง เช่น ช็อกโกแลต ความเยาว์วัยของเรา หรือแม้แต่ความสุขเอง และก็ไม่อยากปล่อยมันไป 

ระดับความสุขที่เราสัมผัสได้ขณะที่กำลังดูอะไรบางอย่าง เช่น ภาพยนตร์ อาจเป็นขั้นต่ำ แต่ถ้าผ่านไปสองสามนาที เรายังคงดูมันอยู่และไม่รู้สึกเหมือนอยากมองไปทางอื่น แสดงว่าเราพอใจและไม่อยากพรากจากสิ่งที่เรารู้สึกอยู่ เราอาจพูดว่า เรายังคง “มีความสุขที่ได้ดูมัน” ถ้าเราไม่พอใจกับมัน นั่นคือ ความทุกข์ ซึ่งจะถูกนิยามว่าเป็นความรู้สึกซึ่งเมื่อได้ประสบแล้ว เราอยากที่จะแยกจากมันโดยธรรมชาติ เรามักจะพยายามเปลี่ยนประสบการณ์ของเราโดยเพียงแค่มองไปทางอื่น และแน่นอนว่าบางครั้งเราก็มีความรู้สึกเป็นกลางเช่นกัน นั่นคือตรงที่เราไม่ต้องการแยกหรือแยกจากบางสิ่งบางอย่าง นั่นคือ เราเฉยเมยหรือไม่แยแส

อย่างไรก็ตาม บ่อยครั้ง ถ้าเรานึกถึงคำว่า “มีความสุข” กับ “ไม่มีความสุข” เราจะคิดในแง่ของความสุดโต่ง ไม่ว่าจะเป็นรอยยิ้มกว้างบนใบหน้า หรือเศร้าและหดหู่จริง ๆ อย่างไรก็ตาม ความรู้สึกทั้งสุขและทุกข์ไม่จำเป็นต้องดราม่าขนาดนี้ เพราะเรากำลังประสบกับทุกช่วงเวลาของชีวิตด้วยความสุขหรือความทุกข์ในระดับหนึ่ง และช่วงเวลาส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ดราม่ามากนัก

ชีวิตขึ้น ๆ ลง ๆ

ทุกขณะ เราประสบกับสิ่งที่เกิดขึ้นทุกประเภท เช่นเดียวกับที่เราอยู่ตรงนี้ สิ่งเหล่านี้มาจากสาเหตุและเงื่อนไขนับล้านที่มาด้วยกัน เรารับข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัวเราหรือเพียงแค่ในจิตใจของเราเข้ามา และในขณะที่สิ่งนี้กำลังเกิดขึ้น เราก็สัมผัสมันด้วยความสุขและความทุกข์ในระดับต่าง ๆ บ่อยครั้ง ที่เรามักจะอธิบายปรากฏการณ์นี้ในแง่ของอารมณ์ที่เราเป็นอยู่ว่าอารมณ์ดีหรืออารมณ์ไม่ดี

ธรรมชาติของชีวิตคือ มันมีขึ้นมีลงตลอดเวลา ไม่ใช่หรือ? และอารมณ์ที่เราเป็นอยู่นั้นก็ไม่สอดคล้องกับข้อมูลที่เราได้รับ สิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัวเรา และสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ เช่น เราอาจกำลังทำสิ่งที่ปกติแล้วเราชอบทำ แต่เราอารมณ์ไม่ดี เราจึงไม่มีความสุขและไม่สนุกกับมัน หรือเราอาจกำลังทำสิ่งที่ไม่สนุกมาก เช่น การออกกำลังกายที่ยาก แต่เราก็ยินดีที่จะทำ เราต้องการทำต่อไป เป็นเรื่องที่น่าสนใจที่จะมองดูว่าอารมณ์ของเราไม่สอดคล้องกับสิ่งที่เรากำลังทำอยู่จริง ๆ

ขณะที่เรามีประสบการณ์ในแต่ละช่วงเวลา เราก็จะมีทัศนคติที่แน่นอนต่อมันเสมอ ทัศนคติคือสิ่งที่เรากำลังพูดถึงตอนนี้ แล้วมันคืออะไร? ทัศนคติเป็นเพียงวิธีที่เราพิจารณาถึงบางสิ่งบางอย่าง มีทัศนคติหลายประเภทที่เราสามารถมีได้ และขึ้นอยู่กับทัศนคตินั้น มันก็ส่งผลกระทบอย่างมากต่ออารมณ์ที่เราเป็นอยู่ ในสถานการณ์ปกติ เราไม่สามารถทำอะไรได้มากจริง ๆ กับการเปลี่ยนแปลงที่ขึ้น ๆ ลง ๆ เหล่านี้ที่เราประสบอยู่ตลอดเวลาในชีวิต  แม้แต่การที่คุณกินยาที่ทำให้รู้สึกดี  ในระยะยาว มันก็ยังมีขึ้น ๆ ลง ๆ อยู่ ใช่ไหม? อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เราสามารถฝึกพัฒนาด้วยได้ก็คือ ทัศนคติของเรา

เมื่อเราพูดถึงการฝึกฝนทัศนคติ มันก็มีอยู่สองด้าน หนึ่งในนั้นคือ การพยายามชำระล้างหรือหยุดทัศนคติที่เป็นไปในทางทำลายต่อสิ่งต่าง ๆ คำว่า “ทำลาย” อาจเป็นคำที่หนักเกินไปเล็กน้อย ดังนั้น เราอาจพูดว่า “ไม่ก่อให้เกิดผล” ก็ได้ แต่ในแง่ความรู้สึกหนึ่งแล้ว มันเป็นการทำลายตนเอง เพราะทัศนคติเหล่านี้ก็เพียงทำให้เรารู้สึกแย่ลงเท่านั้นเอง ส่วนอีกด้านหนึ่งคือ การฝึกฝนตัวเราเองให้มีวิธีมองสิ่งต่าง ๆ อย่างที่ก่อให้เกิดผลดีมากขึ้น

ตรงนี้ สิ่งสำคัญคือต้องจำไว้ว่าเราไม่ได้พูดถึงสิ่งที่ปกติแล้ว คนจะเรียกว่า “พลังแห่งการคิดเชิงบวก” ซึ่งจะต้องมองโลกในแง่ดีอย่างที่สุด นั่นคือ “ทุกอย่างยอดเยี่ยมมาก มันยอดเยี่ยมและสมบูรณ์แบบ!” สิ่งนี้สามารถช่วยได้ แต่มันค่อนข้างง่ายเกินไปหน่อย สำหรับวิธีจัดการกับทัศนคติของเราที่ได้ผลจริง ๆ นั้น เราจำเป็นต้องมองให้ลึกกว่านี้ 

ไม่มีอะไรพิเศษเกี่ยวกับสิ่งที่ฉันรู้สึก

อันดับแรก เรามามุ่งเน้นที่ทัศนคติของเราเกี่ยวกับความรู้สึกของเรากันก่อน กล่าวคือ ทัศนคติของเราเกี่ยวกับระดับของความสุขหรือความทุกข์ที่เรารู้สึก เราจะพิจารณาสิ่งนี้ในบริบทของปัญหาที่คนส่วนใหญ่มี นั่นคือ การขยายความเรื่องความสำคัญของสิ่งที่พวกเขารู้สึกเกินจริงไป 

เราทำให้มันเป็นเรื่องใหญ่เกี่ยวกับตัวเราเอง นั่นคือ “ฉัน” และเป็นเรื่องใหญ่มาก ๆ กับสิ่งที่เรารู้สึก เราสัมผัสประสบการณ์ทุกอย่างในรูปแบบที่เป็นคู่ตัวอย่างเช่น เรามีทัศนะเกี่ยวกับ “ฉัน” อยู่ด้านหนึ่ง และความทุกข์อยู่อีกด้านหนึ่ง เรากลัวความทุกข์นี้และพยายามปกป้องตัวเองให้พ้นจากมันและกำจัดมันให้มากที่สุด แต่มันทำให้เรารู้สึกอย่างไรเมื่อเรามีทัศนคติเช่นนี้ มันทำให้ทุกอย่างแย่ลง ใช่ไหม?

ลองคิดถึงมันดูสักครู่หนึ่งว่า ทัศนคติของคุณเป็นอย่างไรเมื่อคุณอารมณ์ไม่ดีและไม่มีความสุข? ผมไม่ได้หมายถึงเวลาที่คุณร้องไห้และเสียใจจริง ๆ ผมแค่หมายถึงความรู้สึกเมื่อคุณนั่งทำงาน ดูโทรทัศน์ หรืออะไรก็ตาม แล้วคุณก็แค่ “อี๊ ฉันรู้สึกแย่จัง” เราคิดว่ามันแค่เหมือนกับว่าเรากำลังนั่งอยู่ตรงนี้และมีเมฆดำก้อนใหญ่เข้ามาหาเรา แล้วเราก็ต้องการที่จะสร้างเกราะกำบังของเราขึ้นมาว่า “ฉันไม่ต้องการสิ่งนี้!” นั่นเป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์ของคุณใช่หรือไม่? บ่อยครั้งมันดูเหมือนว่าอารมณ์ไม่ดีก็แค่เกิดขึ้นและเราก็ไม่เคยต้องการสิ่งนั้น ยิ่งเราจดจ่อกับมันมากเท่าไหร่ มันก็ยิ่งแย่เข้าไปใหญ่ ปัญหาตรงนี้ก็คือ เรากำลังขยายความเกินจริงในสิ่งที่เกิดขึ้น และทำให้เกิดสองสิ่งนั้นขึ้นจากมัน นั่นคือ “ฉัน” ในด้านหนึ่งและอารมณ์ไม่ดีในอีกด้านหนึ่ง

ตอนนี้ แล้วความสุขล่ะ? เช่นเคยว่า เรามักจะมีประสบการณ์กับมันแบบเป็นคู่ นั่นคือ “ฉัน” ในด้านหนึ่งและความสุขในอีกด้านหนึ่ง จากนั้น เราก็กลัวที่จะสูญเสียมันไป ดังนั้น เราจึงเกาะติดและพยายามยึดมันไว้ มีความรู้สึกไม่มั่นคงเพราะเรากลัวว่ามันจะผ่านไปและเราจะสูญเสียมันไป เรากำลังจะหยุดความรู้สึกดี ๆ มันเป็นการยากที่จะผ่อนคลายและเพลิดเพลินไปกับความรู้สึกมีความสุข ขณะที่ความไม่มั่นคงนี้จะทำลายมันลงจริง ๆ ใช่ไหม? ยิ่งไปกว่านั้น อาจมีความยุ่งยากทุกประเภท เช่น “ฉันไม่คู่ควรที่จะมีความสุข” และอะไรทั้งหมดนั้น

ถ้าคุณเริ่มคิดถึงเกี่ยวกับมัน มันก็น่าขันที่บ่อยครั้งเรามักจะเป็นเหมือนสัตว์อยู่สักเล็กน้อย ลองดูที่สุนัขว่ามันกินอย่างไร มันควรจะชอบสิ่งที่มันกิน แต่มันก็มักจะมองไปรอบ ๆ ด้วย เกร็งเล็กน้อยเหมือนกลัวว่าใครบางคนกำลังจะเอาสิ่งที่มันกินอยู่ไป คุณเคยมีความรู้สึกแบบนั้นไหม? เรารู้สึกมีความสุขแต่กลัวว่าจะมีใครมาพบคุณและพรากมันไป มันค่อนข้างแปลก

แล้วก็มีความรู้สึกเป็นกลาง อีกครั้งว่าจากมุมมองของ “ฉัน” ที่เป็นคู่และความรู้สึกเป็นกลาง เราขยายความเกินจริงเกี่ยวกับความรู้สึกเป็นกลางให้กลายเป็นการไม่มีอะไร กลายเป็นไม่มีความรู้สึกเลย สิ่งนี้เกิดขึ้นค่อนข้างบ่อย โดยที่เรารู้สึกราวกับว่าเราไม่รู้สึกอะไรเลย มันทำให้เรารู้สึกราวกับว่าเราไม่ได้มีชีวิตอยู่จริง ๆ ความรู้สึกเป็นกลางนี้ทำให้เรารู้สึกไม่มีความสุขอยู่เล็กน้อย จริง ๆ แล้ว เราไม่ชอบการไม่รู้สึกอะไรเลย

ด้วยความเป็นไปได้แต่ละอย่างที่จะมีความสุข ไม่มีความสุข และเป็นกลาง ยิ่งเราขยายความเกินจริงและทำให้สิ่งเหล่านี้กลายเป็นเรื่องใหญ่ จริง ๆ แล้ว มันก็ยิ่งจะทำให้เราไม่มีความสุขมากขึ้นไปอีกก็เท่านั้น ดังนั้น ทัศนคติของเราเกี่ยวกับความรู้สึกของเราจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการส่งผลต่อประสบการณ์ของเรา เรามักจะมองว่าความรู้สึกที่มีความสุข หรือไม่มีความสุข หรือเป็นกลางเป็นบางสิ่งบางอย่างที่พิเศษอยู่เล็กน้อย และปกติ เราก็จะมองมันแยกจากตัวเรา

ลองนึกภาพว่ามีอาหาร 3 จานอยู่ตรงหน้าคุณ อันหนึ่งแย่มาก อันหนึ่งอร่อย อันหนึ่งจืดชืด สิ่งเหล่านี้เป็นเหมือนความรู้สึกไม่มีความสุข มีความสุข และเป็นกลาง เมื่อเรารู้สึกถึงสิ่งเหล่านี้ มันก็เหมือนกับว่าเรารับเอามันเข้าไปอยู่ในตัวเรา เรากำลัง “กิน” พวกมัน และในแง่หนึ่ง มันเป็นเหมือนราวกับว่าเราสามารถเลือกที่จะไม่กินได้ แต่ด้วยความรู้สึก คุณก็ทำอย่างนั้นไม่ได้จริง ๆ ใช่ไหมว่า “ฉันหวังว่าฉันจะไม่มีความรู้สึกใด ๆ” แต่หากเป็นแบบนั้นแล้ว เราก็จะรู้สึกไม่มีชีวิตชีวาเช่นกัน นั่นเป็นอะไรที่ไม่น่าพอใจ เราสามารถตรวจดูว่าเรามี “ฉัน” ที่เป็นคู่อย่างนี้กับอารมณ์ ความรู้สึกนั้นตรงนั้นแยกออกจากเราหรือไม่

แค่ทำมันก็เท่านั้น

สิ่งแรกที่เราต้องทำเวลาที่ฝึกฝนทัศนคติต่าง ๆ ของเราก็คือ การมีทัศนคติที่ “ไม่มีอะไรพิเศษ” เสียก่อน มันอาจฟังดูไม่มากนัก แต่จริง ๆ แล้วมันลึกซึ้งมาก “ไม่มีอะไรพิเศษเกี่ยวกับสิ่งที่ฉันรู้สึกในตอนนี้” นั่นคือ ชีวิตมีขึ้นมีลง บางครั้งเราก็อารมณ์ดี บางครั้งก็อารมณ์ไม่ดี และบางครั้งก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้นมากนัก ไม่มีอะไรน่าประหลาดใจเกี่ยวกับมัน และไม่มีอะไรพิเศษเกี่ยวกับเรา เหมือนกับว่าเราต้องรู้สึกบางอย่างและไม่ควรรู้สึกอย่างอื่น สิ่งสำคัญคือ เราเพียงแค่ใช้ชีวิตต่อไปโดยไม่ว่าเราจะรู้สึกอย่างไรก็เท่านั้น

ตัวอย่างเช่น ถ้าคุณต้องดูแลลูก ๆ ของคุณ มันไม่สำคัญว่าคุณจะอารมณ์ดีหรือไม่ดี คุณก็ยังคงต้องทำอย่างนั้น คุณขับรถของคุณไปทำงานไม่ว่าคุณจะรู้สึกดีหรือไม่ดีก็ตาม ยิ่งเราจดจ่ออยู่กับตัวเองและรู้สึกอย่างไรมากเท่าไหร่ เราก็จะยิ่งไม่มีความสุขมากขึ้นเท่านั้น นี่ไม่ได้หมายความว่าเราจะหยุดรู้สึกทุกอย่างไปหมดเลย นี่ไม่ใช่ประเด็น เราควรตระหนักถึงความรู้สึกของเรา แต่ในขณะเดียวกันก็อย่าทำให้มันเป็นเรื่องใหญ่

บางคนดูกลัวที่จะรู้สึกไม่มีความสุขจริง ๆ เพราะพวกเขาคิดว่ามันจะส่งผลทางอารมณ์แก่พวกเขาอย่างท่วมท้นมากมาย เช่นเดียวกับเมื่อมีคนเสียชีวิตหรือเกิดเรื่องเลวร้ายขึ้น คุณก็ต้องการป้องกันตัวเองจากความรู้สึกไม่มีความสุขเพราะมันจะมากเกินไป มันอาจจะไม่รู้สึกตัว มันไม่จำเป็นต้องเป็นการปิดกั้นความรู้สึกที่รับรู้ได้ ดูเหมือนว่าเราจะต้องการปฏิเสธมันราวกับว่ามันเป็นบางสิ่งบางอย่างภายนอกที่พยายามจะเข้ามาภายใน ในทางกลับกัน ก็มีคนจำนวนมากที่คิดว่าพวกเขาไม่สมควรได้รับความสุข สิ่งต่าง ๆ อาจเป็นไปด้วยดี แต่พวกเขาก็จะคิดว่าพวกเขาไม่ควรมีความสุขเพราะว่าโดยพื้นฐานแล้วมันไม่ดี ถ้าอย่างนั้นแล้ว คุณจะเป็นเพียงคนที่ไม่อาจรู้สึกเป็นกลางได้ก็เท่านั้น พวกเขาต้องได้รับความบันเทิงตลอดเวลา เช่น การฟังเพลงอย่างต่อเนื่อง พวกเขารู้สึกว่ามันจะสร้างความบันเทิงให้และทำให้พวกเขามีความสุข ดังนั้น พวกเขาจึงกลัวความรู้สึกที่เป็นกลางของความเงียบ ดังนั้น ในแง่หนึ่ง บ่อยครั้งเรามักจะกลัวความรู้สึก ทำไมเป็นแบบนั้น? เพียงเพราะเราทำมันให้เป็นเรื่องใหญ่และให้ความสำคัญกับมันเกินจริงก็เท่านั้น แต่ความรู้สึกก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งของชีวิต มันเป็นวิธีการที่เราสัมผัสได้ตามธรรมชาติทุกช่วงเวลา นี่คือสิ่งที่ทำให้เราแตกต่างจากกล้องวิดีโอ ดังนั้น จึงไม่มีอะไรพิเศษ ฟังดูง่าย แต่มันก็ไม่ง่ายนัก

ตัวอย่างของนกป่าที่หน้าต่างของเรา

สิ่งที่เราต้องการคือความสมดุลที่ละเอียดอ่อน แน่นอนว่า เราชอบที่จะมีความสุข แต่กับความสุขนั้น มันยังคงมีความรู้สึกว่าไม่ต้องการทำลายความสุขที่เรามีอยู่ในขณะนี้ ดังนั้น เราจึงยึดติดกับมันและรู้สึกไม่มั่นคงและไม่มั่นใจเกี่ยวกับมัน จากประสบการณ์ของเราเอง เรารู้ว่าความสุขที่เรามีตอนนี้จะต้องผ่านไปอย่างแน่นอน มันไม่ยั่งยืนเพราะธรรมชาติของชีวิตคือการมีขึ้นมีลง ถ้าเรารู้สิ่งนี้ ก็ไม่มีประโยชน์อะไรที่จะต้องวิตกกังวล เพียงแค่ปล่อยตัวเราให้เพลิดเพลินกับความสุขได้นานเท่าที่มันคงอยู่ก็เท่านั้น

มีตัวอย่างหนึ่งที่ดีมากซึ่งบางครั้งผมก็ใช้มันทำสิ่งนี้ ลองนึกภาพว่า นกป่าที่สวยงามมากตัวหนึ่งมาที่หน้าต่างของเราและมันก็อยู่ที่นั่นชั่วขณะหนึ่ง ตอนนี้ เราสามารถเพลิดเพลินกับความงามของนกตัวนั้นได้ แต่เรารู้ว่ามันเป็นสัตว์ป่าและมันก็จะบินจากไป ถ้าเราพยายามจับมันใส่ไว้ในกรง นกตัวนั้นก็จะไม่มีความสุขมาก ๆ ระหว่างจับ นกจะกลัว พยายามจะบินหนีไปและจะไม่กลับมาอีก แต่ถ้าเราผ่อนคลายและเพลิดเพลินกับความงามของนกในขณะที่มันอยู่ที่นั่น ก็จะไม่มีใครกลัวหรือเป็นทุกข์ และบางที มันอาจจะกลับมาอีกก็ได้

ความสุขดูเหมือนจะเป็นแบบนี้มากเลยใช่ไหม? มันก็เหมือนกันกับคนที่เราชอบมาก ๆ เมื่อพวกเขามาเยี่ยม บ่อยครั้ง เราก็มักจะมีทัศนคติเช่นนี้ว่า “ทำไมคุณไม่อยู่ต่อให้นานกว่านี้?” ก่อนที่พวกเขาจะถอดเสื้อคลุมออกเสียด้วยซ้ำ “คุณจะมาอีกเมื่อไหร่?” อะไรแบบนี้ มันเป็นแบบฉบับของวิธีการที่เราทำลายความสุขของเรา

ไม่มีอะไรพิเศษ ไม่มีอะไรพิเศษเลย นกมาที่หน้าต่างของเรา เพื่อนมาเยี่ยมเรา เพื่อนของเราโทรมา ไม่มีอะไรพิเศษ เพียงแค่เพลิดเพลินกับมันในขณะที่มันคงอยู่เพราะแน่นอนว่ามันจะจบลง แล้วไง คุณจะคาดหวังอะไร? ใช่ เราต้องการที่จะมีความสุข เวลาเราไม่มีความสุข ก็ให้ยอมรับมันว่าเป็นสิ่งที่เรากำลังประสบอยู่ตอนนี้ ไม่มีอะไรพิเศษหรือน่าประหลาดใจเกี่ยวกับสิ่งนั้น ความทุกข์นั้นก็จะผ่านไปเช่นกัน เมื่อคุณพยายามเพียงแค่จะผลักดันมันออกไป ก็จะทำให้มันยิ่งแย่ลงไปอีกเท่านั้น

ดังนั้น เราจึงสามารถวิเคราะห์ความรู้สึกของเราและตรวจสอบสิ่งที่เรากลัวจริง ๆ ได้ ฉันกลัวความรู้สึกไม่มีความสุขใช่หรือไม่? ฉันกลัวที่จะรู้สึกมีความสุขเพราะฉันไม่สมควรได้รับมันใช่หรือไม่? ฉันกลัวที่จะรู้สึกเป็นกลางเพราะมันก็แค่ไม่มีอะไรเลยใช่หรือไม่? เรากลัวอะไร?

ผมได้ฝึกพัฒนาบางสิ่งบางอย่างที่เรียกว่า การฝึกฝนการสำนึกถึงอารมณ์ และหนึ่งในการฝึกฝนนี้ก็ช่วยให้ผู้คนเอาชนะความกลัวที่มีต่อความรู้สึกของตนได้ มันง่าย นั่นคือ คุณลองจั๊กจี้มือของคุณ จากนั้นให้หยิกมัน แล้วก็แค่กำมันไว้ อย่างแรก เราจะรู้สึกดี อีกอย่างหนึ่ง เราจะรู้สึกไม่ได้ดีนัก และอีกอย่างหนึ่ง ก็เป็นเพียงความรู้สึกกลาง ๆ แต่ก็ไม่มีอะไรพิเศษเป็นพิเศษเกี่ยวกับสิ่งเหล่านั้นใช่ไหม? มันเป็นแค่ความรู้สึก แล้วไง? นี่คือทัศนคติประเภทหนึ่งที่เราจำเป็นต้องพัฒนา ฉันอารมณ์ไม่ดี แล้วไง? ไม่มีอะไรพิเศษ เรารับรู้ว่าเราอารมณ์ไม่ดี แล้วไง? และถ้ามีสิ่งใดที่เราสามารถทำได้เพื่อปรับปรุงมัน ทำไมไม่ทำล่ะ? ถ้าไม่มีสิ่งใดที่เราสามารถทำได้ เราก็แค่จัดการกับมันเท่านั้นเอง อันที่จริง คุณไม่จำเป็นต้องจัดการกับมันด้วยซ้ำ คุณก็แค่ทำและทำสิ่งที่คุณทำต่อไป ถ้าเราต้องการเปลี่ยนวิธีที่เราประสบกับความรู้สึกนั้นจริง ๆ เราก็จำเป็นจะต้องมองดูที่วิธีอื่นในการเปลี่ยนทัศนคติของเราเกี่ยวกับความรู้สึกนั้น

สิ่งที่เรียกว่า “ไม่มีอะไรพิเศษ” นี้คือระดับแรก ไม่มีอะไรพิเศษเป็นพิเศษเกี่ยวกับสิ่งที่ฉันรู้สึก และก็ไม่มี “ฉัน” ที่แยกจากความรู้สึกเหล่านี้และนั่นคือสิ่งที่เราจำเป็นต้องป้องกัน มันมีขึ้นมีลง นี่ก็เป็นเพียงหนทางที่ชีวิตดำเนินไป

ไม่มีอะไรพิเศษเกี่ยวกับฉัน

เมื่อเชื่อมต่อกับ “ไม่มีอะไรพิเศษเกี่ยวกับความรู้สึกนี้” คือ “ไม่มีอะไรพิเศษเกี่ยวกับฉันและสิ่งที่ฉันรู้สึกตอนนี้” สิ่งนี้จะเข้าสู่หัวข้อที่เราเรียกว่า “การคำนึงถึงแต่ตนเอง” ในพระพุทธศาสนา เราสัมผัสทุกอย่างในแง่ของการคำนึงถึงแต่ตนเอง จริง ๆ แล้ว สิ่งนี้หมายความว่าอย่างไร? มันหมายถึงความกังวลอย่างสมบูรณ์เกี่ยวกับตัวเราเท่านั้น เราจดจ่ออยู่กับตัวเองและสิ่งที่เรากำลังรู้สึกอยู่ในขณะนี้ และเราเพิกเฉยต่อทุกคน นั่นคือ “มันไม่สำคัญว่าพวกเขาจะรู้สึกอย่างไร ฉันไม่มีความสุข”

เช่นเคยว่า เคล็ดลับก็คือ ให้คิดว่าไม่มีอะไรพิเศษเกี่ยวกับตัวเราและสิ่งที่เราคิด ยิ่งจิตใจของเราในแง่ของการยึดติดกับ “ฉัน” นั้นแคบลงเท่าไหร่ เราก็จะยิ่งไม่มีความสุขมากขึ้นเท่านั้น มันเหมือนกับกล้ามเนื้อที่ตึงและเกร็งมาก จิตใจของเราเป็นเช่นนี้ นั่นคือ “ฉัน ฉัน ฉัน” แต่ถ้าเรานึกถึงมนุษย์ 7 พันล้านคนและสัตว์นับไม่ถ้วนบนโลกใบนี้ สิ่งที่เรารู้สึกก็ไม่มีอะไรพิเศษ ตอนนี้ ทุกคนกำลังรู้สึกบางอย่าง บางคนรู้สึกมีความสุข บางคนไม่มีความสุข และบางคนก็เป็นกลาง (พวกเขาอาจกำลังหลับอยู่!) และกับแต่ละคน มันก็เปลี่ยนไปตลอดเวลา หากมองอย่างนี้แล้ว มีอะไรพิเศษเกี่ยวกับตัวฉันและความรู้สึกของฉันตอนนี้?

เช่นเดียวกับตอนที่คุณติดอยู่ในสภาพการจราจรที่แย่มาก ๆ คุณคิดว่าคนอื่น ๆ ที่ติดอยู่ในการจราจรนั้นกำลังมีช่วงเวลาที่วิเศษและมีความสุขจริง ๆ งั้นหรือ? ยิ่งเราคิดว่า “ฉัน ฉัน ฉัน นั่นคือ ฉันอยู่ที่นี่และติดอยู่ตรงนี้ แล้วก็ออกไปไม่ได้ ช่างน่ากลัวจริง ๆ!” เราก็ยิ่งทุกข์มากขึ้นเท่านั้นไม่ใช่หรือ? หากคุณนึกถึงทุกคนที่อยู่ในการจราจรที่ติดขัดนั้น มันก็จะทำให้ความคิดของคุณเปิดกว้างและผ่อนคลายมากขึ้นโดยอัตโนมัติ

ผมจำได้ว่าตอนที่เรากำลังเดินทางมาที่นี่วันนี้ การจราจรแทบไม่ขยับเลย และก็มีถนนเล็กที่แยกจากถนนใหญ่ที่รถเหล่านี้ต้องการเคลื่อนเข้ามาในแนวการจราจรบนถนนที่เราอยู่นั้น รถเหล่านี้ต้องการข้ามเลนของเราและเข้าไปในเลนที่ขับไปอีกทางหนึ่ง ซึ่งก็ไม่ขยับเช่นกัน แล้วผ่านช่องทางต่าง ๆ มาทางเราแล้วก็เข้าไปอีกด้านหนึ่ง แน่นอนว่าผู้คนไม่ปล่อยให้พวกเขาผ่านไป และคุณก็คิดว่า “พระเจ้า พวกเขาจะผ่านมันไปได้อย่างไร?” พวกเขาเริ่มขยับรถเข้าไปใกล้และเคลื่อนหน้ารถเข้าไป ฯลฯ และมันเริ่มน่าสนใจมากจริง ๆ จากนั้น ก็มีผู้ชายที่อยู่ข้างหน้าเรา แม้ว่าเขาจะสามารถขยับไปข้างหน้าได้ก็ตาม กำลังคุยโทรศัพท์มือถืออยู่และก็ไม่ได้สนใจ ดังนั้น เขาจึงไม่เคลื่อนรถ แล้วรถอื่น ๆ ที่อยู่ข้างหลังก็เครียดกับสิ่งนั้นมาก

กับทั้งหมดที่กำลังเกิดขึ้นนี้ ทันใดนั้น คุณก็ไม่ได้คิดถึงเกี่ยวกับ “ฉันช่างน่าสงสารจัง ฉันติดอยู่ในการจราจรแบบนี้” มันกลายเป็นเหมือนละครที่คุณกำลังดูอยู่ โดยสงสัยว่า “พวกเขาจะเคลื่อนที่หลบหลีกผ่านไปได้อย่างไร? พวกเขาจะหาทางออกไปได้อย่างไร?” คุณไม่ได้คิดถึงแต่ตัวเองเท่านั้น คุณได้เปลี่ยนทัศนคติของคุณ คุณไม่ได้ทำ “ฉัน” ให้เป็นเรื่องใหญ่โต ที่ว่า “ฉันพิเศษมาก ฉันเป็นคนพิเศษในการจราจรนี้” จากนั้นตลอดทางที่เราได้ประสบกับสถานการณ์นั้นก็เปลี่ยนไป ให้ลองคิดดู

ปัญหาของการคำนึงถึงแต่ตนเอง

ครูชาวทิเบตผู้ยิ่งใหญ่ท่านหนึ่งที่ชื่อ คูนู ลามะ (Kunu Lama) แนะนำการฝึกฝนที่มีประโยชน์มาก ท่านบอกว่าลองนึกภาพตัวเองอยู่ด้านหนึ่ง คนอื่น ๆ อยู่อีกด้านหนึ่ง แล้วมองแยกกันในฐานะเป็นผู้สังเกตการณ์ “ฉัน” ที่ด้านหนึ่งของภาพนี้ไม่มีความสุข แต่ก็เหมือนคนอื่น ๆ ในอีกด้านหนึ่ง หรือคุณติดอยู่ในการจราจรนั้นและคนอื่น ๆ ทั้งหมดก็เหมือนกัน ตอนนี้ในฐานะผู้สังเกตการณ์ที่เป็นกลาง ใครสำคัญกว่ากัน? คน ๆ เดียว นั่นคือ “ฉัน” ที่ผลักดันให้ออกไปก่อนทุกคน หรือทั้งฝูงชนที่ติดอยู่ในการจราจรนั้น? กรุณาลองทำแบบนั้นดู

เห็นได้ชัดว่ากลุ่มใหญ่สำคัญกว่าคนเดียวใช่ไหม? นี่ไม่ได้หมายความว่าเราไม่สำคัญ จริง ๆ แล้ว ถ้าเราใส่ใจและห่วงใยทุกคน เราก็ถูกรวมอยู่ใน “ทุกคน” นั้นด้วย มันก็แค่ง่าย ๆ ว่า เราไม่ได้พิเศษไปกว่าคนอื่นโดยเฉพาะในแง่ของความรู้สึกของเรา

ดังนั้น ปัญหาคือการคำนึงถึงแต่ตนเอง สิ่งที่เป็น “ฉัน ฉัน ฉัน ฉันมีความสำคัญมาก” ที่เกิดขึ้นตลอดเวลา ตอนที่เรารู้สึกไม่มีความสุข ก็คิดว่ามีเมฆก้อนนี้อยู่เหนือเรา และมี “ฉัน” ที่แยกจากมัน นี่คือความสำคัญในตัวเองของ “ฉัน” เมื่อเรามีความสุข มันก็เป็น “ฉัน ฉัน ฉัน” เราไม่ต้องการให้สุนัขตัวโตผ่านเข้ามาเอากระดูกของเราไป บางครั้งเราจึงมี “ฉัน ฉัน ฉัน ฉันไม่รู้สึกอะไร ฉันไม่ได้รับความบันเทิง ฉันต้องได้รับความบันเทิง”

เปิดใจให้กับการคำนึงถึงคนอื่น

การหมกมุ่นอยู่กับตัวเองซึ่งมุ่งความสนใจอย่างจำกัดนี้ไปที่ “ฉัน” และสิ่งที่ฉันรู้สึกคือปัญหา สิ่งที่เราต้องทำคือเปลี่ยนมุมมองนี้ คิดในแง่ของทุกคนและมีแรงจูงใจเพื่อทุกคน นั่นคือ “ขอให้ทุกคนหลุดออกจากการจราจรนี้” ถ้าคุณลองคิดถึงมันดู เราคนเดียวจะรอดจากการจราจรนี้ได้อย่างไร การจราจรจะต้องถูกกำจัดออกไป ซึ่งรวมถึงทุกคนในนั้นด้วย หากข้อกังวลของคุณมีขอบเขตที่กว้างกว่านี้สำหรับทุก ๆ คน เราก็สบายใจมากขึ้น เราไม่ได้เครียดหรือเศร้าใจมากที่ต้องติดอยู่กับการจราจร และเมื่อเราออกจากการจราจรนั้นไปได้ในที่สุด อย่าคิดเพียงแค่ว่า “โอ้ เยี่ยมมาก ฉันหลุดออกมาได้แล้ว!” แต่ให้คิดในแง่ที่ว่า “นี่วิเศษมาก ทุกคนไปได้ทุกที่ที่พวกเขากำลังจะเดินทางไป” แล้วเราก็จะไม่ยึดติดกับความสุขนั้นราวกับว่ามีใครบางคนกำลังจะเอากระดูกไปจากเรา

สิ่งนี้โดยพื้นฐานแล้วเราเรียกว่าความเห็นอกเห็นใจ ซึ่งคือการคิดถึงความทุกข์ของผู้อื่น ห่วงกังวลเกี่ยวกับมันเช่นเดียวกับที่เราห่วงกังวลในตัวเราเอง แล้วจากนั้นก็รับผิดชอบในการช่วยให้ทุกคนเอาชนะความทุกข์นั้นจริง ๆ แม้ว่ามันอาจจะไม่มีอะไรพิเศษ มันไม่มีประโยชน์อะไรที่จะรู้สึกหดหู่ใจ คิดถึงความน่ากลัวทั้งหมดที่เกิดขึ้นในโลกนี้ นี่เป็นเรื่องธรรมชาติและเกิดขึ้นตลอดเวลา แต่มันก็ยังจะดีกว่าถ้าทุกคนมีความสุข ถูกต้องไหม?

ตอนที่คุณแสดงความรับผิดชอบโดยสมัครใจ โดยคิดว่า “ฉันจะเป็นห่วงทุกคนและหวังให้ทุกคนเป็นอิสระจากความทุกข์” เราจะพัฒนาความกล้าหาญและความมั่นใจในตนเองอย่างมาก นี่คือสิ่งที่สมเด็จองค์ดาไลลามะพูดถึงบ่อยมาก ถ้าเราคิดถึงแต่ตัวเราเองและความทุกข์ของเราเอง แท้จริงแล้วเราก็จะอ่อนแอมาก แต่การคิดถึงคนอื่นและความทุกข์ของพวกเขาอย่างสมัครใจนั้นต้องใช้พลังเป็นอย่างมาก มันไม่ใช่สัญญาณของความอ่อนแอเลย แต่เป็นสัญญาณของความแข็งแกร่งซึ่งจะนำไปสู่ความมั่นใจในตนเองที่เหลือเชื่อ ทัศนคติเชิงบวกนี้ยังนำไปสู่ความรู้สึกมีความสุขโดยอัตโนมัติด้วย จะไม่มีสิ่งนี้ทั้งหมดที่ว่า “โอ้ ฉันช่างน่าสงสารจัง ฉันติดอยู่ในการจราจรนี้” แต่เราคิดว่าทุกคนติดอยู่ในการจราจรที่ติดขัดนั้น และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าพวกเขาจะเป็นอิสระจากการจราจรนั้น การคิดถึงทุกคนที่ติดอยู่ในการจราจรที่ติดขัดนั้นเป็นเรื่องที่กล้าหาญมากขึ้น แล้วเราก็จะจบลงด้วยการมีความรู้สึกเชิงบวกเกี่ยวกับตัวเราเองมากขึ้นเช่นกัน เราไม่ได้อ่อนแอหรือถูกข่มเหงจากการจราจร เราแข็งแกร่ง

ถ้าเรานึกถึงคนอื่น ๆ ที่ติดอยู่ในการจราจรนั้น ไม่ใช่แค่ตัวเราเองเท่านั้น มันก็จะช่วยคนอื่น ๆ ทางอ้อมด้วย ตัวอย่างเช่น เราจะไม่ก้าวร้าวและบีบแตรตลอดเวลา (ซึ่งเห็นได้ชัดว่าไร้ความหมายเพราะไม่มีใครสามารถเคลื่อนไปไหนได้) เมื่อรถคันนั้นที่อยู่ในถนนเล็กกำลังเคลื่อนเข้ามาตัดหน้าเรา เราก็จะไม่เปิดหน้าต่างของเราเพื่อจะตะโกนออกไปด้วยคำพูดที่หยาบคาย จากนั้น เราทั้งคู่ก็จะผ่อนคลาย แต่เราก็ไม่อาจมีอิทธิพลมากเกินไปได้

นี่เป็นตัวอย่างง่าย ๆ ของวิธีที่เราสามารถเปลี่ยนทัศนคติของเราได้ เพื่อเปลี่ยนคุณภาพของวิธีที่เราประสบกับชีวิตที่ขึ้น ๆ ลง ๆ ตามธรรมชาติ ทั้งหมดที่ต้องใช้คือการฝึกฝนและความกล้าหาญเล็กน้อยเพื่อเอาชนะความรู้สึกว่าเราพิเศษและสิ่งที่เรารู้สึกนั้นพิเศษมาก และก็เพื่อพยายามแก้ไขทุกสถานการณ์ให้ดีที่สุด

การจัดการกับความโกรธ

ถ้าเราติดอยู่ในการจราจรและมีคนตัดหน้าเรา เราอาจรู้สึกโกรธอย่างควบคุมไม่ได้ อีกวิธีในการเปลี่ยนทัศนคติของเราก็คือ การคิดถึงสาเหตุต่าง ๆ ที่อาจทำให้สถานการณ์นี้เกิดขึ้น เช่น คนขับรถอาจมีลูกที่ป่วยและกำลังพยายามที่จะไปโรงพยาบาล สิ่งนี้สามารถช่วยให้เรารู้สึกสงบมากขึ้นได้

แต่เรื่องของเรื่องก็คือ ความโกรธชั่วแวบแรกเหล่านี้ยังคงดำเนินต่อไปตลอดเวลา มันเป็นกระบวนการที่ยาวนานมากที่จะเอาชนะแนวโน้มและนิสัยแห่งความโกรธ การเปลี่ยนทัศนคติของเรา เช่นในตัวอย่างนี้ โดยคิดว่าคนที่รีบร้อนนั้นอาจมีเหตุผลที่ดีในการทำอย่างนั้น ก็เป็นเพียงวิธีการชั่วคราวในการจัดการกับความโกรธเท่านั้น เราจะต้องลงลึกให้มากขึ้นเพื่อถอนรากของความโกรธออกไป ซึ่งเกี่ยวข้องกับวิธีการเข้าใจตัวเราเองและผู้อื่น

เรามักจะระบุตัวตนเราและผู้อื่นด้วยเหตุการณ์เล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิต ตัวอย่างเช่น เรามองบุคคลนี้ในการจราจรว่าเป็นคนที่แย่มากที่พยายามจะตัดหน้าเรา  และนั่นคือทั้งหมดที่เรานึกถึงบุคคลนั้น ดังนั้น เราจึงระบุพวกเขาด้วยสิ่งเดียวที่เกิดขึ้นในชีวิตของพวกเขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนที่มันเกี่ยวข้องกับเราด้วย เราให้อัตลักษณ์ที่มั่นคงแข็งแรงแก่พวกเขา ก็เช่นเดียวกับที่เราให้กับตัวเราเอง ดังนั้น จึงมี “ฉัน” ที่มั่นคงแข็งแรงนี้ที่โกรธ

เราต้องพยายามคลายสิ่งนี้จนถึงจุดที่เราไม่ระบุตัวตนของพวกเขาหรือของฉันด้วยสิ่งใด ๆ แต่นี่เป็นกระบวนการที่ลึกซึ้งและยาวนาน คิดถึงภาพนิ่งของใครบางคน มันเป็นช่วงเวลาเดียวของบุคคลนั้น แต่ไม่ใช่ทุกอย่างเกี่ยวกับพวกเขาเลย ดังนั้น เราจำเป็นจะต้องหยุดมองตัวเราเอง ชีวิตของเรา และคนอื่น ๆ ในแง่ของภาพนิ่ง ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และเมื่อเราคลายมุมมองต่อสิ่งต่าง ๆ ที่หลอกลวงออกไปแล้ว เราก็ต้องทำความคุ้นเคยกับมัน เพราะแนวโน้มของมันก็มักจะหนาแน่นขึ้นเสมอ ท้ายที่สุดแล้ว มันเป็นไปได้ที่จะไม่โกรธหรืออิจฉาริษยาหรืออะไรก็ตามอีกอย่างแท้จริง

การมีความสุขไม่ใช่เรื่องผิด

การฝึกฝนนี้ที่จะไม่สร้างความพิเศษใด ๆ จากความรู้สึกของเราหรือตัวเราเอง และไม่ฉายภาพจินตนาการตัวตนที่จำกัดและตายตัวกับใครก็ตาม รวมทั้งตัวเราเอง จะช่วยปรับปรุงคุณภาพชีวิตของเรา การจัดการกับสถานการณ์ที่ยากลำบากก็จะกลายเป็นเรื่องง่าย แล้วชีวิตก็จะไม่ใช่การต่อสู้ดิ้นรนขนาดนั้น เราจะมีความสมดุลทางอารมณ์และเป็นคนที่มีความสุขมากขึ้น

เป้าหมายที่ใหญ่กว่าคือ การคิดถึงผู้อื่นและวิธีที่เราจัดการกับพวกเขา ถ้าเราอยู่ในครอบครัวที่มีลูก และถ้าเรามีเพื่อนและเพื่อนร่วมงาน ถ้าเราอารมณ์ไม่ดีอยู่เสมอและคิดอย่างต่อเนื่องว่า “ฉันช่างน่าสงสารจัง” และอะไรทำนองนั้น เราก็จะอยู่ในสถานะที่อ่อนแอมากที่จะช่วยเหลือพวกเขาได้ และในความเป็นจริง มันก็ทำให้พวกเขาไม่มีความสุข ดังนั้น เราจึงต้องการจัดการกับอารมณ์ของเราอย่างมีประสิทธิผลมากขึ้นเพราะมันจะส่งผลกระทบต่อผู้อื่น มันจะส่งผลกระทบต่อครอบครัวของเรา ฯลฯ และเราก็เป็นห่วงกังวลเกี่ยวกับพวกเขา นั่นเป็นอีกเหตุผลหนึ่งในการฝึกพัฒนาตัวเราเอง

แรงผลักดันเพื่อความสุขนั้นเกือบจะเป็นเรื่องทางชีววิทยาและการมีความสุขไม่ใช่เรื่องผิด และเราก็จำเป็นต้องพยายามที่จะได้รับความสุข แต่เมื่อเรามีมันแล้ว เราต้องตระหนักถึงธรรมชาติของมัน ซึ่งก็คือ มันจะผ่านไป ดังนั้นแล้ว ก็เพียงแค่เพลิดเพลินกับมันที่นั่นและในขณะนั้น ยิ่งเราผ่อนคลายกับมันมากเท่าไหร่ เราก็ยิ่งจะรู้สึกมีความสุขบ่อยขึ้นเท่านั้น และบางครั้งเราก็จะรู้สึกไม่มีความสุข แต่แล้วไงล่ะ? เราจะคาดหวังอะไร? ไม่ใช่เรื่องใหญ่ ไม่มีอะไรพิเศษ

เมื่อเราคิดว่าสิ่งที่เกิดขึ้นไม่มีอะไรพิเศษเป็นพิเศษ ในตัวของมันเองแล้วนั่นเป็นวิธีที่ผ่อนคลายมากขึ้นในการที่จะมีความสุขมากขึ้น ประเด็นคือ เราไม่กังวล ไม่มีแรงกระตุ้นทางประสาทอยู่ตลอดเวลาว่า “ฉันต้องมีความสุขเสมอ ฉันต้องได้รับความบันเทิงเสมอ ฉันต้องได้ดั่งใจเสมอ” การคิดแบบนี้ไม่เป็นที่น่าพอใจจริง ๆ จำสิ่งที่เราพูดกันไว้ได้ไหมว่า การมีความสุขไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับสิ่งที่คุณกำลังทำอยู่ คุณสามารถทำสิ่งเดียวกันนั้นและรู้สึกมีความสุข ไม่มีความสุข หรือเป็นกลางในแต่ละวันได้ มันเป็นแค่เรื่องของสิ่งที่คุณจดจ่ออยู่ก็เท่านั้น

ผมจะยกตัวอย่างหนึ่งให้ฟัง ผมสนุกกับการไปหาหมอฟันจริง ๆ เพราะหมอฟันของผมเป็นคนดีมาก และเราก็มีความสัมพันธ์ฉันมิตรที่ดี เรามักจะพูดตลกใส่กัน ล้อเล่นกัน ฯลฯ มันน่าไปที่นั่นเพราะผมไม่ได้จดจ่ออยู่กับ “ฉันกังวลจริง ๆ ว่าเขาอาจจะต้องกรอฟันนั้นหรือทำแบบนั้น” ไม่มีความวิตกกังวลอยู่ที่นั่น ผมมองมันด้วยความสุข “โอ้ เยี่ยมเลย พรุ่งนี้ผมจะได้เจอเพื่อนของผม”

คุณอาจคิดว่าผมเป็นคนแปลก ๆ อยู่สักหน่อย แต่เมื่อผมทำการรักษาคลองรากฟันเสร็จแล้ว ผมก็รู้สึกเพลิดเพลินไปกับมันอย่างแท้จริง มันเป็นเรื่องที่น่าสนใจเพราะว่าปากของผมเปิดกว้างและพวกเขาก็เอาเครื่องมือต่าง ๆ มากมายใส่เข้าไปมากขึ้นเรื่อย ๆ และผมก็เริ่มหัวเราะเพราะนึกไม่ออกว่าพวกเขาจะใส่มันเข้าไปได้อีกมากแค่ไหน โปรดทราบว่าผมได้รับยาชาอย่างเต็มที่ ดังนั้น ผมจึงไม่รู้สึกอะไรเลย!

แน่นอนว่าผมหมายถึงการฉีดยาชาโนโวเคนมันเจ็บ แต่แล้วไงล่ะ? คุณไม่ต้องการที่จะได้รับมัน แล้วก็เจ็บปวดอยู่ 30 นาทีระหว่างการรักษาคลองรากฟันหรือคุณจะปวดสองสามวินาทีสำหรับการฉีดยาชา? คุณมีความสุขที่จะได้รับการฉีดยาแม้ว่าจะเจ็บก็ตาม เพราะเป็นแค่ช่วงเวลาสั้น ๆ เท่านั้น

ทุกอย่างขึ้นอยู่กับทัศนคติของเรา นี่คือการฝึกฝนทัศนคติ มันได้ผลและปรับปรุงคุณภาพชีวิตของเรา ถ้าเราต้องทำการรักษาคลองรากฟัน เราจะทำมันแบบต้องทรมานหรือจะทำมันแต่ไม่เลวร้ายนัก? เราต้องมีประการณ์กับมัน ไม่มีทางเลือก ดังนั้น เราอาจต้องทำให้มันเป็นประสบการณ์ที่โอเคที่สุดเท่าที่จะทำได้ด้วย นี่คือหลักการที่อยู่เบื้องหลังมัน

บทสรุป

ไม่มีใครตื่นมาในตอนเช้าโดยหวังว่าจะมีปัญหาหรือความทุกข์ ทุกสิ่งทุกอย่างที่เราทำมีจุดมุ่งหมายเพื่อทำให้เรามีความสุขมากขึ้น แต่เป้าหมายที่เข้าใจยากนี้ดูเหมือนจะไม่เข้าใกล้มากนัก โดยการเพ่งสมาธิไปที่ตัวเราเองและขยายความเกินจริงถึงความสำคัญของสิ่งที่เราเป็น สิ่งที่เราทำ และสิ่งที่เรารู้สึก เราจะไม่ประสบความสำเร็จในการเพลิดเพลินกับความสุขที่เรามี หรือเราจมอยู่กับความยากลำบากที่เราเผชิญ ด้วยวิธีการฝึกฝนทัศนคติของเราให้ครอบคลุมถึงผู้อื่นและความรู้สึกของพวกเขามากขึ้น เราก็จะเปิดประตูสู่ประสบการณ์ที่ผ่อนคลายและมีความสุขมากขึ้นทั้งขึ้นและลงที่เราทุกคนต้องเผชิญ

Top